การปลูกและการดูแลสตรอว์เบอร์รี สูตรสำเร็จตามแบบฉบับ ซอ โอ ฟาร์ม
15 มีนาคม 2559
254,576
"สตรอว์เบอร์รี" (อังกฤษ: strawberry) เป็นสกุลไม้ดอกในวงศ์กุหลาบ ผลสามารถรับประทานได้ ในอดีตปลูกเป็นพืชคลุมดินให้กับต้นไม้ปลูกเลี้ยงอื่น ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อก็เป็นได้ มีมากกว่า 20 สปีชีส์ และมีลูกผสมมากมาย แต่สตรอว์เบอร์รี ที่นิยมปลูกมากในปัจจุบันก็คือ สตรอว์เบอร์รีสวน (Fragaria x ananassa) ผลของสตรอว์เบอร์รี มีรสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีตั้งแต่รสหวานจนถึงเปรี้ยว สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญ มีปลูกกันเป็นวงกว้างหลายสภาพอากาศทั่วโลก
++ ลักษณะทั่วไปของสตรอว์เบอร์รี ++
Strawberry Fragaria ananassa เกิดจากการผสมข้ามระหว่าง F.chiloensis และ F.virginiana อยู่ในวงศ์ Rosaeae มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เป็นพืชเขตหนาว อายุ 3 ปี ประกอบด้วย
ลำต้น : แตกกอเป็นพุ่มเตี้ย 6-8 นิ้ว ทรงพุ่มกว้าง 8-12 นิ้ว สูง 6-8 นิ้ว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และฤดูปลูกส่วนยอดส่วนที่ติดอยู่ระหว่างรากกับใบเรียกว่า เหง้า (crown) ซึ่งเป็นลำต้นสั้น ส่วนบนของลำต้นประกอบด้วยหูใบ (Leaf axil) ส่วนโคนของหูใบจะมีไหล (runner) เจริญออกมา สามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อน (daughter plant)
ลักษณะไหลของสตรอว์เบอร์รี
ใบ : เป็นแบบกลุ่มประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ ขอบใบ, มีก้าน, ใบยาว แต่ละต้นจะมีใบมากกว่า 10 ใบสลับกันแต่ละใบจะมีชีวิตอยู่นาน 1-3 เดือน ปกติจะมีใบใหม่ทดแทนอยู่ตลอดฤดูกาลผลิต
ระบบราก : เป็นพืชที่มีระบบรากตื้น เมื่อย้ายปลูกพืชจะสร้างรากที่แข็งแรง (peg root) ซึ่งจะมีอายุประมาณ 3-4 อาทิตย์ หลังจากนั้นรากที่เจริญขึ้นมาใหม่อาจเป็นแบบกึ่งถาวร มีอายุนานกว่าหนึ่งฤดูปลูก หรืออาจเป็นรากชั่วคราว (อายุ 1-7 วัน) ซึ่งจะเจริญในระดับความลึก 3-6 นิ้ว หรืออาจเจริญลึก 12 ในดินที่ร่วนซุย เนื่องจากเหง้าจะเจริญสูงขึ้น ดังนั้นรากจะเจริญสูงขึ้นเหนือระดับดินตามอายุพืช
ตาดอก : เจริญจากตายอด ซึ่งเกิดจากเหง้าที่เจริญขึ้นมาใหม่ เมื่อได้อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ช่วงแสงสั้น (ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน) ชักนำให้เกิดการเจริญของดอก แต่ละต้นมีช่อดอก 4-7 ช่อ และแต่ละช่อจะมีดอก 5-10 ดอก ดังนั้นเกษตรกร จึงควรปลูกช่วงเดือนตุลาคม และจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี
ดอก : ดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ แต่ในดอกขนาดใหญ่อาจจะมีมากกว่านี้ ในอุณหภูมิกลางวัน/กลางคืน สูงกว่า 22-21 องศาเซลเซียส ช่อดอกจะชะงักการเจริญเติบโต
ผล : เป็นแบบผลกลุ่ม (aggregate fruit) มีเมล็ดอยู่ด้านนอกหรือเปลือกของผล โดยขนาดของผลจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การดูแลรักษา และการให้น้ำ เนื่องจากน้ำจะช่วยขยายตัวของเซลล์จากการผสมเกสร ส่วนขนาดของผลที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดในผล
ระบบรากของสตรอว์เบอร์รี
++ การขยายพันธุ์ ++ การขยายพันธุ์ของสตรอว์เบอร์รีทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การใช้ต้นไหล : ส่วนใหญ่การขยายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจะใช้วิธีนี้กันมาแต่ดั้งเดิม โดยต้นที่เกิดจากการชำไหลนั้นจะสามารถให้ไหลได้ดี ต้นแม่พันธุ์ 1 ต้น สามารถผลิตไหลได้ถึง 1,000 ต้น แต่โดยทั่วไปจะมี 25-50 ไหลต่อต้น ต้นไหลจะออกมากที่สุดหลังฤดูเก็บเกี่ยว คือ "ช่วงฤดูฝน"
2. การแยกต้น : จะใช้ในการแบ่งส่วนของลำต้นที่มีรากมาทำการขยายพันธุ์ต่อ ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับต้นพันธุ์ที่ไม่ออกไหล หรือ พันธุ์ที่ออกไหลไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ป่า
3. การเพาะเมล็ด : เมล็ดของสตรอว์เบอร์รี โดยทั่วไปมีความงอกพอใช้ได้ แต่สายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีไม่สามารถจะผสมพันธุ์กลับให้เหมือนพันธุ์เดิมได้ วิธีนี้จึงมักใช้ในการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ นอกจากนั้นยังใช้ในกรณีที่ไม่มีการผลิตไหล
4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ : เป็นการนำเนื้อเยื่อต้นสตรอว์เบอร์รีในส่วนที่เจริญไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ซึ่งวิธีนี้จะได้ต้นปลอดเชื้อและมีจำนวนต้นมาก
ลักษณะดอกของสตรอว์เบอร์รี
++ การปลูก ++
การปลูกมีหลากหลายวิธี เช่น ปลูกในกระถาง ในถุงเพาะชำ ในแปลงปลูก การจะเลือกวิธีแบบใดขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ และงบประมาณ แต่ที่นิยมกันมาก คือ การปลูกลงแปลงที่มีการเตรียมดินดีแล้ว โดยหลังจากผสมดินเสร็จ ควรยกแปลงให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร กว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ปลูกแบบ 2 แถว ใช้ระยะปลูก 30x40 เซนติเมตร หรือ ปลูกแบบ 4 แถว ด้วยระยะปลูก 25x30 เซนติเมตร
**ทั้งนี้ทาง ซอ โอ ฟาร์ม ใช้วิธีการปลูกแบบ 2 แถว ในระยะปลูก 30x40 เซนติเมตร จะใช้ต้นพันธุ์ทั้งหมด ประมาณ 5,000-6,000 ต้นต่อไร่
ลักษณะผลอ่อนสตรอว์เบอร์รี
++ การเตรียมแปลงปลูก ++
สตรอว์เบอร์รี : เป็นพืชที่ชอบดินที่มีลักษณะที่มีอินทรีย์วัตถุค่อนข้างสูง การระบายน้ำดี ดังนั้นการเตรียมดินควรเพิ่มอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก, ขุยมะพร้าว, แกลบ, ปุ๋ยหมัก ผสมลงไปในดิน คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนทำการปลูกแล้วคลุมทับด้วยวัสดุคลุมแปลง
++ วัสดุคลุมแปลง ++
เกษตรกรบางรายจะใช้ใบตองตึง ฟาง หรือใช้ผ้าพลาสติกก็ได้ แต่แนะนำ ให้ใช้เศษฟางและใบตองตึง เพราะจะระบายความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีกว่า และไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสมในแปลงเพาะปลูกมากเกินไป
++ ระบบการให้น้ำ ++
แนะนำให้เกษตรกรใช้ระบบน้ำหยด เช่น สายเทปน้ำหยด หัวน้ำหยด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้โดนดอก และผล
++ พันธุ์ที่นิยมปลูก ++ ในประเทศไทยนิยมปลูกอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่
พันธุ์ 329 มีลักษณะผลและเนื้อค่อนข้างแข็ง ไม่ช้ำง่าย ขนส่งได้ไกล รสชาติ หอม เปรี้ยวอมหวาน กรอบ
พันธุ์พระราชทาน 80 มีลักษณะผลและเนื้อค่อนข้างจะเละ ช้ำ ง่าย รสชาติหอม หวานมากกว่า พันธุ์ 329
ต้นที่ได้จากการชำไหล (ซ้าย), ต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด(ขวา)
++ การดูแลให้ปุ๋ย ++
หลังจากปลูกไปได้ประมาณ 20-30 วัน เริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 ละลายน้ำ ใช้ในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร โดยการละลายน้ำแล้วเปิดให้ไปกับระบบให้น้ำ ทุกๆ 5-7 วัน เมื่อออกดอก-ติดผลแล้วจึงปรับเป็นสูตร 15-5-20 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1000 ลิตร ให้ทุก 5-7 วัน หรือเกษตรกรบางท่านอาจใช้ปุ๋ยไฮโดรโพนิคแทนก็ได้ผลดีเช่นกัน
++ แมลงศัตรูพืช ++
เนื่องจากสตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่รับประทานผลสด เรื่องการใช้สารเคมีจึงไม่แนะนำ แนะนำให้ใช้สารสกัดชีวภาพ เช่น น้ำส้มควันไม้, สารสกัดจากสะเดา และสารชีวภาพอื่นๆ ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน หากพบว่ามีการระบาดไม่มาก ควรจับหนอนแมลงมาทำลาย ส่วนแมลงและสัตว์อื่นๆ ที่พบบ่อยๆ ในแปลงเพาะปลูก ได้แก่ หนอนผีเสื้อต่างๆ กิ้งกือ และหอยทาก
++ โรคพืช ++
โรคที่สำคัญ : ได้แก่ โรคใบจุด, โรคใบไหม้, โรคต้นเน่า, โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค และหมั่นดูแลตัดแต่งใบที่เป็นโรค และใบแก่ออกอยู่เสมอ จัดการแปลงให้โปร่งโล่ง มีการถ่ายเทอากาศดี ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ลักษณะการปลูกสตรอว์เบอร์รี
++ การเก็บเกี่ยว ++
ไม่ควรให้ผลสตรอว์เบอร์รีโดนน้ำ เพราะจะช้ำเสียได้ง่าย และควรเก็บด้วยความระมัดระวัง เพราะผลจะเกิดการช้ำได้ง่าย เกษตรกรบางรายจะเก็บผลผลิตขณะที่สตรอว์เบอร์รี เริ่มมีสีแดงครึ่งลูก เพื่อสะดวกต่อการขนส่งทางไกล เมื่อถึงตลาดสตรอว์เบอร์รีจะมีสีแดงสุกทั่วทั้งลูก ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการใช้เลี่ยงปัญหาผลผลิตเสียหายจากการขนส่ง และหลังจากเก็บผลผลิตเสร็จแล้วเกษตรกรต้องคัดแยกขนาดหรือคัดผลก่อนทำการแพ็คบรรจุใส่กล่องเพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป
** โดยผลผลิตที่ ซอ โอ ฟาร์ม เก็บได้เฉลี่ยต่อวัน/ไร่จะอยู่ที่ 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 4 เดือน(
ระบบน้ำหยด
++ ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ++
ในการผลิตทาง ซอ โอ ฟาร์ม จะผลิตต้นพันธุ์ไว้เพาะปลูกเอง จึงทำให้ประหยัดเรื่องค่าต้นทุนไปได้มาก โดยค่าพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจะอยู่ที่ต้นละ 5 บาท หากใช้ต้นพันธุ์ทั้งหมด 5,000-6,000 ต้นต่อไร่ ต้นทุนเฉพาะค่าพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจะอยู่ที่ไร่ละ 25,000-30,000 บาท เมื่อรวมค่าปุ๋ย ค่าวางระบบน้ำ ค่าแรงงาน และค่าวัสดุอื่นๆ ที่ต้องใช้ในการจัดการฟาร์มสตรอว์เบอร์รีด้วยแล้วจะตกอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อไร่ ภายในระยะเวลาการจัดการดูแล-การเก็บเกี่ยวตลอดฤดูกาลเพาะปลูก 5 เดือน (กันยายน-มกราคม)
++ การตลาด ++
ด้านการตลาดทาง ซอ โอ ฟาร์ม จะทำการตลาดเอง โดยการโปรโมทผลผลิตผ่านทางโซเชียลมีเดีย และมีการคัดเกรด แพ็คบรรจุจำหน่ายเองส่งตลาดและร้านค้าภายในเขตอำเภอพบพระก็จะได้ราคา 100-200 บาท/กิโลกรัม ในช่วงต้นฤดูหรือถ้าผลิตให้ออกก่อนเจ้าอื่นๆ จะได้ราคาดี (200 บาท/กิโลกรัม) แต่ถ้าเป็นช่วงที่ผลผลิตของเจ้าอื่นออกมามากแล้วจะขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท หากรวมเป็นรายได้ในการปลูกสตรอว์เบอร์รีต่อฤดูกาลเพาะปลูก จะได้ประมาณไร่ละ 250,000 บาท
** จากราคาจำหน่ายที่ทำการตลาดเองและมีการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ทำให้ ซอ โอ ฟาร์ม มีรายได้ 2,000-3,000 ต่อวัน เมื่อเก็บเกี่ยวจนครบฤดู (เก็บเกี่ยว 4 เดือน) จะมีรายรับรวมทั้งหมดประมาณ 250,000 บาท โดยหักต้นทุนออกแล้วยังจะคงเหลือกำไรต่อฤดูกาลเพาะปลูกประมาณ 150,000 บาท และเมื่อหารจำนวนระยะเวลาในการทำงานทั้งหมด 5 เดือน ก็เท่ากับว่าทางซอ โอ ฟาร์ม มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท
** ซึ่งปัจจุบันทาง ซอ โอ ฟาร์ม ยังผลิตจำหน่ายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (เขต อ.พบพระ) และนอกจากจะจำหน่ายผลผลิตแล้ว ทาง ซอ โอ ฟาร์ม ยังมีการผลิตต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีคุณภาพดีจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจและเกษตรกรในเครือข่ายช่วงเดือนกันยายา-ตุลาคมของทุกปี ด้วยในราคาต้นละ 5 บาท อ้างอิงhttps://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=9421&s=tblplant
No comments:
Post a Comment