ตำลึง (Ivy gourd) เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ภาคกลางมีอีกชื่อเรียก สี่บาท ภาคเหนือ เรียก ผักแคบ อิสานเรียก ผักตำนิน แม่ฮ่องสอนเรียก แคเด๊าะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt จัดอยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae เป็นไม้เลื้อยที่มีใบทรงเลี่ยม ขอบใบหยัก คล้ายรูปหัวใจ มีอวัยวะสำหรับยึดเกาะที่เปลี่ยนรูปจากใบ ตำลึงมีวงชีพ 2 ปี ต้นที่งอกจากเมล็ดเจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝนซึ่งมีความชื้นและแสงแดดเหมาะสม และเมื่อผ่านฤดูหนาวจะไม่ค่อยมีการเจริญเติบโตทางยอด เมื่อเข้าฤดูแล้ง ใบจะเหี่ยวแห้งและพักตัว โดยมีการสะสมอาหารไว้ที่รากและจะแตกยอดเป็นต้นได้อีกครั้งเมื่อได้รับน้ำและสภาพอากาศที่เหมาะสมในฤดูฝน ผลตำลึงสุกมีสีแดง เป็นอาหารของนก หนู และค้างคาว ซึ่งช่วยกระจายพันธุ์ โดยเมล็ดที่อยู่ในมูลสัตว์จะไปงอกในที่ไกลๆได้
ผักตำลึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด นิยมบริโภคใบอ่อน และยอด โดยทำต้มจืด แกงเลียง หรือลวกรับประทานกับน้ำพริก ยำใบตำลึง หรือใส่ในก๋วยเตี๋ยว และเนื่องจากมีรสจืดและไม่มีกลิ่นฉุนจึงนิยมใช้ประกอบอาหารสำหรับเด็กเล็ก นอกจากนี้ ส่วนต่างๆของตำลึงยังใช้แก้โรคและอาการต่างๆ เช่น ลดไข้ แก้อาเจียน รักษาโรคตาหลายชนิด อาการผดผื่นคันและอาการคันจากพิษแมลงกัดต่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ รวมถึงใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น พรรณเพ็ญ (2554) กล่าวถึงตำรับยาล้านนาที่มีผู้ปริวรรตไว้ พบว่ารากหรือเถาตำลึงเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลายขนาน จึงนับว่าตำลึงเป็นพืชผักพื้นบ้านที่ควรส่งเสริมให้มีการบริโภคเพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีคุณประโยชน์ทางสมุนไพร
แต่เดิมนั้นตำลึงเป็นผักพื้นบ้านที่ที่ขึ้นเองเลื้อยตามรั้วหรือตามพุ่มไม้อื่น แต่ปัจจุบันมีการปลูกเก็บยอดเพื่อบริโภคและการค้า โดยทั่วไปจะให้ผลผลิตมากในฤดูฝน แต่ในช่วงอื่นของปีตำลึงไม่ค่อยแตกยอดใหม่ทำให้ผลผลิตผักตำลึงมีน้อยและใบค่อนข้างแก่ การศึกษาปัจจัยทางกายภาพที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางลำต้นและการผลิตยอดใหม่เพื่อกระตุ้นให้มีการแตกยอดได้ตลอดปี
การปลูกตำลึง สามารถปลูกโดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำเถาแก่ในถุงก่อน แล้วจึงย้ายลงดินที่เตรียมไว้ ตำลึงชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ได้แก่ใช้ส่วนผสมของดินและทราย 1 : 1 หรือ 2 : 1 และคลุกดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หลังปลูกราว 1 เดือน ต้นเริ่มมีการแตกยอดและเจริญเติบโตดี จึงควรปลูกบริเวณรั้วหรือทำร้านให้เกาะเลื้อย หลังจากเริ่มเห็นการเจริญเติบโตทางลำต้นแล้ว ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์สม่ำเสมอเดือนละ 1-2 ครั้ง จะได้ยอดที่สมบูรณ์ ต้นตำลึงมีการผลิตยอดใหม่ได้ดีในฤดูฝน และหากได้รับแสงแดดเต็มที่จะยิ่งเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เพราะตำลึงต้องการแสงแดดในการสร้างอาหารเพื่อนำไปใช้ในการผลิตและเจริญเติบโตของยอดและใบการตัดยอดก็จะกระตุ้นให้มีการแตกยอดใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงที่สภาพอากาศแล้งมากและอากาศร้อนจัดถึงอุณหภูมิสูงถึง 40°C การพรางแสงช่วยให้สภาพใบดีกว่าต้นที่ได้รับแดดจัด แต่การรดน้ำปกติวันละ 2 ครั้ง ไม่ทำให้ต้นตำลึงแตกยอดใหม่ แต่ถ้าพ่นละอองน้ำในอากาศในช่วงบ่าย จะช่วยลดความร้อนและเพิ่มความชื้นในอากาศจะช่วยให้มีการแตกยอดได้
อ้างอิง
https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=62
No comments:
Post a Comment