วิธีปลูกถั่วฝักยาว (Yard Long Bean)

วิธีปลูกถั่วฝักยาว (Yard Long Bean)

ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาว เป็นผักที่ปลูกเพื่อใช้รับประทานฝัก ฝักก็คือผลนั่นเอง ถั่วฝักยาวเป็นพืชอายุปีเดียวคือ ให้ยอดครั้งเดียวแล้วเถาจะตายไป มีถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดีย มีอายุตั้งแต่หยอดเมล็ดจนเก็บเกี่ยวประมาณ 55 – 75 วัน เป็นผักที่ปลูกได้ตลอดปี ดังนั้น จึงเป็นผักที่ติดตลาดอยู่เสมอสามารถใช้ประกอบอาหารได้ ทั้งเป็นผักแกล้มโดยรับประทานสด หรือใช้ผัด ต้ม คนไทยย่อมทานกันมาก จัดว่าเป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว แต่ติดฝักดีในอุณหภูมิค่อนข้างสูง ฝนไม่ชุก หากฝนชุกและอบอ้าวจะไม่ติดฝัก หากอุณหภูมิเย็นจัด รากจะไม่เจริญทำให้ต้นเคระแกรน ดังนั้นในฤดูแล้ง มักให้ผลผลิตสูง แต่หากขาดน้ำฝักจะกระด้าง ต้นถั่วฝักยาวจะเลื้อย ดังนั้นในการปลูกต้องทำค้าง ถั่วฝักยาวจะให้พลังงาน 30 แคลอรี่ในน้ำหนัก 100 กรัมและให้ไวตามิน เอ บี1 บี2 และไวตามินซี
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต
ดินร่วนเป็นดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต แม้ว่าถั่วฝักยาวจะสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ต้องรดน้ำเพื่อรักษาความชื้นในดินตลอดฤดูปลูก แต่ควรมีความชื้นในอากาศพอเหมาะด้วย อุณหภูมิมีพอเหมาะสำหรับการเจริญคือ 16 – ซ ต้องการแสงแดดเต็มที่ในการเจริญเติบโต
การเตรียมดิน เนื่องจากถั่วฝักยาวเป็นผักประเภทรากลึกปานกลาง ส่วนใหญ่รากจะแยกแผ่กระจายตามผิวดิน หน้าดินควรลึกประมาณ 18 – 22 ซม. ควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมตอนเตรียมดินด้วย
การปลูกและการดูแลรักษา โดยปกติจะปลูกโดยการหยอดเมล็ดเป็นหลุมลงในแปลงปลูก โดยใช้ 3 – 4 เมล็ด/หลุม ใช้ระยะปลูก 50 – 75 ซม. หรือ 30 – 100 ซม. จำนวนเมล็ดที่ใช้หยอดโดยตรงในแปลงปลูก 1 ไร่ ประมาณ 3 – 4 กก. เมื่อเมล็ดงอกประมาณ 7 วันก็ทำการถอนให้เหลือหลุมละ 2 ต้น การหยอดไม่ควรหยอดลึกเกินไปจะทำให้เน่าได้ โดยทั่วไปมักให้ลึกลงในดิน 1.2 – 2.5 ซม. และกลบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า และคลุมด้วยฟางแห้งไว้จนกระทั่งงอกและถอนแยกเมื่อต้นถั่วมีอายุประมาณ 15 – 20 วันหรือเมื่อมีใบจริง 4 – 5 ใบก็นำไม้มาปักค้าง ไม้ที่ใช้เป็นไม้รวกยาวประมาณ 2 เมตร ปักหลุมละ 1 อัน ปักเอนเข้าหากันกลางแถว
การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะในช่วงดอกบานและเด็ดผัก เพราะการขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้ดอกร่วงหรือผักกระด้างและมีเมล็ดไม่เต็มฝัก อย่างไรก็ดี การให้น้ำมากเกินไปอาจทำให้ถั่วรากเน่า
การให้ปุ๋ย เนื่องจากเราใช้ส่วนของฝักมาบริโภค ดังนั้นจึงต้องให้ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูง สัดส่วนของ N : P : K  1.5 : 2 : 1 เช่น ปุ๋ยสูตร 12 – 24 – 12 หรือ  5 – 10 – 5 แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน อัตราที่ใช้มักประมาณ 50 – 100 กก./ไร่ หากดินนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมากอาจใช้ 30 – 50 กก./ไร่ ก็เพียงพอ การใส่อาจแบ่งใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกครั้งหนึ่งก่อน และใส่ครั้งที่สองเมื่อถั่วเริ่มเลื้อย คือประมาณ 20 วันหลังจากปลูก
การทำค้าง ไม้ไผ่รวกที่นำมาทำค้างควรยาว 2 – 4 เมตร ปักหลุมละ 1 อันและใน 3 – 4 หลุมก็รวมกันมัดที่ปลายบน
การพรวนดินและปราบวัชพืช ควรทำในระยะเดียวกับการให้ปุ๋ย
การเก็บเกี่ยว หากนับฝักจากวันที่ผสมเกสรจะใช้เวลาประมาณ 10 – 15 วัน ดังนั้นอาจใช้เวลาตั้งแต่ปลูกประมาณ 55 – 75 วัน ระยะของฝักที่ควรเก็บได้ควรเป็นระยะที่ฝักยังแข็งไม่พอ ฝักเรียบเสมอ สีฝักไม่จาง เนื่องจากการบานของดอกไม่พร้อมกัน ดังนั้นฝักมักถึงระยะการเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน โดยทั่วไปมักเก็บเกือบทุก 2 – 4 วัน ดังนั้นจะเก็บได้ประมาณ 10 – 20 ครั้ง หากจะเก็บเมล็ดพันธุ์ต้องรอให้ฝักแห้งเป็นสีน้ำตาลและเมื่อเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วต้องรักษาไว้ในภาชนะที่ปิดฝา เก็บไว้ในที่เย็น  เมล็ดที่เก็บจะต้องตากแดดให้แห้งสนิท โดยทั่วไปผลผลิตประมาณ 670 กก./ไร่ ขนาดผักเฉลี่ย 30 – 60 ซม.
พันธุ์ พันธุ์ที่ใช้ปลูกในบ้านเราได้แก่ พันธุ์ Extra long ฝักขนาดยาวมาก สีเขียวอ่อน ติดฝักมาก ความยาวของฝักสม่ำเสมอ เมล็ดสีแดงค่อนข้างเล็ก นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ราชบุรี ฝักยาวพอสมควร เมล็ดสีแดงด่างเมล็ดใหญ่ ฝักสีเขียวอ่อน พันธุ์บางบัวทองฝักยาวพอควร สีของฝักเขียวอ่อน
ปริมาณการผลิต ปลูกมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่ 51,729 ไร่ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ โคราช ขอนแก่น ร้อยเอ็ด รองลงมาคือ ภาคใต้มีพื้นที่ปลูก 24,158 ไร่ ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภาคเหนือมีพื้นที่ปลูก 23,882 ไร่ ได้แก่จังหวัดลำปาง นครสวรรค์
โรคแมลง สำหรับโรคที่เป็นกับถั่วฝักยาวมีโรค Anthracnose เกิดจากเชื้อราจะทำลายลำต้น ใบ ฝักและเมล็ด ทำให้เกิดแผลสีแดงเข้มแผ่กระจายเป็นมากจะทำให้ฝักเน่า ควรถอนทิ้งและเผาทำลาย
โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. ถั่วฝักยาวเป็นโรคนี้มากที่สุด เป็นที่ใบแผลกลมสีน้ำตาล ใบจะร่วงดำเป็นมากต้นถั่วจะตาย
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักทำให้ถั่วมีอาการใบแห้ง หรือใบมีจุดสีเหลืองๆต่อมาอาจเป็นสีน้ำตาล มักเป็นตอนอากาศมีอุณหภูมิ 27 –  ซ และความชื้นสัมพัทธ์ 78 – 87 % เชื้อนี้มักติดไปกับเมล็ด ถ้านำเมล็ดที่เก็บจากต้นเป็นโรคไปปลูก ต้นที่ได้จะเป็นโรคนี้อีก ควรเผาซากพืชที่เป็นโรคนี้ทิ้งไป
แมลงเช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ มักเป็นพาหะนำโรคเหล่านี้มา โรคนี้มักระบาดในฤดูฝน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงไม่ปลูกถั่วในฤดูฝน
แมลงที่ดูดน้ำเลี้ยงและเป็นพาหะของโรคมาให้คือเพลี้ยอ่อน นอกนั้นยังมีแมลงปีกแข็งต่างๆ เช่น เต่าทอง พวกนี้มักกัดกินใบของถั่วฝักยาว

No comments:

Post a Comment